‘ประยูร ออคิดส์’ และ ‘มานะ ออร์คิด’ เกษตรกรก้าวหน้า สร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรม แปรรูปผลิตภัณฑ์แข่งขันให้ธุรกิจ

SME in Focus
21/09/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 4151 คน
‘ประยูร ออคิดส์’ และ ‘มานะ ออร์คิด’ เกษตรกรก้าวหน้า สร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรม แปรรูปผลิตภัณฑ์แข่งขันให้ธุรกิจ
banner
ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนาความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของเศรษฐกิจโลก กฎ กติกาทางการค้าระหว่างประเทศที่เข้มงวดเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

รวมถึงเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคและรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นปัจจัยเร่งให้แต่ละประเทศต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศมากขึ้น 



สำหรับการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจให้ทันโลกการค้ายุคใหม่ จะเสริมธุรกิจให้แข็งแกร่ง ยั่งยืน และเติบโตได้แบบก้าวกระโดด การนำนวัตกรรมมาปรับใช้ในธุรกิจจึงเป็นเหมือนอาวุธลับที่จะนำผู้ประกอบการ SME ไทย สามารถก้าวได้ไกลกว่าเดิม เป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้ธุรกิจโดดเด่น และได้เปรียบคู่แข่งขันในตลาด 

โดยแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ต้องให้ความสําคัญในสร้างมูลค่าเพิ่มของภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการและการท่องเที่ยว โดยมุ่งหวังให้ประเทศยกระดับการผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่า เป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต 



ไทยขยับขึ้นอันดับที่ 30 ของโลก ที่ 3 ของอาเซียน

ทั้งนี้ หากดูจากผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยในภาพรวมยังอยู่ที่ระดับกลาง มีการปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้จะไม่มาก แต่ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าภาคธุรกิจมีการปรับตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง



โดยล่าสุดสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2566 ซึ่งปีนี้ไทยปรับอันดับดีขึ้น 3 อันดับจากปีที่แล้ว มาอยู่อันดับที่ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ โดยผลการจัดอันดับปัจจัยหลักทั้ง 4 กลุ่ม มีดังนี้

1.) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ อยู่ที่อันดับ 16 ดีขึ้น 18 อันดับ (ปี 2565 อันดับ 34)
2.) ประสิทธิภาพภาครัฐ อยู่ที่อันดับ 24 ดีขึ้น 7 อันดับ (ปี 2565 อันดับ 31)
3.) ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ อยู่ที่อันดับ 23 ดีขึ้น 7 อันดับ (ปี 2565 อันดับ 30)
4.) โครงสร้างพื้นฐาน อยู่ที่อันดับ 43 ดีขึ้น 1 อันดับ (ปี 2565 อันดับ 44)

ซึ่งปีนี้ IMD ได้จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยในภาพรวม ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นทั้งหมดจากผลการจัดอันดับปัจจัยหลักทั้ง 4 กลุ่ม แต่มีปัจจัยย่อยด้านการศึกษา สุขภาพและสิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์ ที่ลดลง เป็นตัวบ่งชี้ให้เราต้องตื่นตัวในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ผลการจัดอันดับนี้ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีพัฒนาการทางสมรรถนะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่งผลให้ขยับขึ้นถึง 18 อันดับ ดีที่สุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คาดว่าสาเหตุหลักมาจากหลายปัจจัย ทั้งด้านเศรษฐกิจในประเทศ การค้าระหว่างประเทศ การลงทุน การจ้างงาน และระดับราคาดีขึ้น จึงส่งผลให้อันดับด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ



ขณะเดียวกัน หากมองจากเขตเศรษฐกิจอาเซียนรวม 10 เขตเศรษฐกิจ มีเพียง 5 เขตเศรษฐกิจ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ที่ได้รับการจัดอันดับโดย IMD ซึ่งเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงสุดของอาเซียนในปี 2566 คือ

1 สิงคโปร์ (อันดับ 4 ของโลก)
2 สหพันธรัฐมาเลเซีย (อันดับ 27 ของโลก)
3 ไทย (อันดับ 30 ของโลก)
4 สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (อันดับ 34 ของโลก)
5 สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (อันดับ 52 ของโลก)

สำหรับในปี 2566 เขตเศรษฐกิจ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เริ่มเห็นพัฒนาการขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ดีขึ้น จากการกลับมาเปิดประเทศหลังการระบาดของโรคโควิด 19 มาอย่างยาวนาน ที่น่าสนใจคือ อินโดนีเซีย มีอันดับดีขึ้นมากที่สุดถึง 10 อันดับ ขยับมาอยู่อันดับที่ 34 ในปีนี้ จากปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ที่มีอันดับดีขึ้นถึง 13 อันดับ และ 11 อันดับจากปีก่อน 

ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย เป็นผลจากการปรับอันดับดีขึ้นถึง 16 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 28 ของปัจจัยย่อยด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ (Domestic Economy) จากพัฒนาการของตัวชี้วัด 1.1.14 Real GDP growth และตัวชี้วัด 1.1.15 Real GDP growth per capita 

ตามมาด้วยมาเลเซีย ขยับอันดับดีขึ้นถึง 5 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 27 จากปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่มีอันดับดีขึ้น 5 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 7 เป็นผลจากการปรับอันดับดีขึ้นถึง 34 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 16 ของปัจจัยย่อยด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ (Domestic Economy) จากพัฒนาการของตัวชี้วัด 1.1.15 Real GDP growth per capita และตัวชี้วัด 1.1.14 Real GDP growth และไทยปรับอันดับดีขึ้น 3 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 30 ในขณะที่ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ มีอันดับลดลงจากปีก่อนถึง 4 อันดับและ 1 อันดับ ตามลำดับ มาอยู่ที่อันดับ 52 และอันดับ 4



นวัตกรรมช่วยพัฒนาธุรกิจ SME ภาคเกษตร

จะเห็นได้ว่า แนวคิดการขับเคลื่อนธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added) เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจ SME สามารถเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

โดยเฉพาะการพัฒนาภาคการเกษตรไทยในปัจจุบันตลอดจนอนาคต ไม่เพียงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการ แต่จำเป็นต้องใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิต หรือการเพิ่มมูลค่า ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อ SME ภาคเกษตรไทย อย่างเช่น กรณีศึกษาของ 2 ธุรกิจเกษตรกล้วยไม้  ‘ประยูร ออร์คิด’ และ ‘มานะ ออร์คิด’ ที่นำนวัตกรรมมาตอบโจทย์การแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างน่าสนใจ 



กรณีศึกษา นวัตกรรมเกษตรกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

คุณประยูร พลอยพรหมมาศ ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดประยูร ออคิดส์ ผู้บุกเบิกและพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องมืด เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นมาเพื่อใช้ลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้พลังงาน โดยภายในห้องมืด 1 ห้องสามารถบรรจุเนื้อเยื่อได้หลายแสนขวด ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดวางเนื่องจากนวัตกรรมนี้ไม่จำเป็นต้องใช้แสงเลย ซึ่งปกติต้องจัดเรียงขวดให้กล้วยไม้ทุกต้นได้รับแสงสม่ำเสมอกัน จึงทำให้สามารถวางได้พื้นที่มากขึ้นลดต้นทุนลงได้อย่างมาก และเนื่องจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ด้วยเทคนิคนี้จะใช้เวลากว่า 60 - 70% ของกระบวนการอยู่ในห้องมืด



ข้อดีที่เด่นชัดอีกข้อหนึ่งคือ ช่วยให้กล้วยไม้ไม่กลายพันธุ์ และยังเพิ่มการขยายจำนวนได้ดี เนื่องจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องมืด จะทำให้ข้อกล้วยไม้ยืด ยาวเร็วขึ้น เนื่องจากต้นไม้ใช้คลอโรฟิลในการสังเคราะห์แสง หากไม่มีแสงลำต้นจะยืดยาว เมื่อข้อยาวทำให้สามารถขยายจำนวนได้เร็ว ทำให้ลดต้นทุนการผลิตลงได้อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันมีเพียง ประยูร ออคิดส์ เจ้าเดียวเท่านั้นที่ใช้เทคนิคนี้กับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้



สำหรับ Key Success ที่จะทำให้ ประยูร ออคิดส์ เติบโตได้อย่างยั่งยืน คือการช่วยลูกค้าลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย ได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งต้นทุนค่าขนส่งเป็นอีกหนึ่ง Pain Point สำคัญของลูกค้าที่ทำให้ ประยูร ออคิดส์ คิดค้นนวัตกรรม เทคโนโลยีการใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิลแทนขวดแก้ว และนวัตกรรมการขนส่งทางเรือแทนการส่งทางเครื่องบิน เพราะถึงแม้จะมีความรวดเร็วและป้องกันความเสียหายของเนื้อเยื่อได้อย่างดี แต่ลูกค้าต้องรับภาระต้นทุนที่สูงมาก 

ด้วย Pain Point นี้ ‘ประยูร ออคิดส์’ พยายามค้นคิดหาทางออกเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้า จนค้นพบนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งต้นอ่อนกล้วยไม้ในขวดแก้วทางเรือขึ้นมา ซึ่งการ ‘ขนส่งทางเรือ’ ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถลดต้นทุนการขนส่งให้กับลูกค้าได้มากกว่า 85% 

ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เช่น ส่งออกกล้วยไม้ไปประเทศบราซิล ขวดแก้ว 1 ขวด ค่าขนส่งทางเครื่องบินประมาณ 7 เหรียญ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 250 บาท หากต้องส่ง 10,000 ขวด จะมีค่าใช้จ่าย 70,000 เหรียญ หรือประมาณ 2,500,000 บาท 

แต่ปัจจุบันด้วยนวัตกรรมการขนส่งทางเรือ และการใช้ภาชนะพลาสติกรีไซเคิลทดแทน ที่ผ่านการออกแบบโดยเฉพาะ จึงเป็นทางเลือกให้ลูกค้า ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายการขนส่งได้ถึง 85% จากประมาณ 2,500,000 บาท เหลือเพียง 375,000 บาท โดยใช้เวลาขนส่ง 40 วัน แต่ถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาต้นทุนที่ถูกลง



ขณะเดียวกันได้เปลี่ยนวัสดุโฟมมาใช้กระดาษลูกฟูกแทน ทำให้มีพื้นที่เหลือบรรจุขวดแก้วได้มากขึ้น ช่วยลูกค้าประหยัดเพิ่มขึ้นอีก ที่สำคัญ ‘โฟม’ เป็นวัสดุที่ก่อให้ขยะพลาสติกซึ่งเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งหลายประเทศเริ่มบังคับใช้มาตรการภาษีพลาสติกสำหรับสินค้านำเข้า เพื่อกีดกันทางการค้า ซึ่งเมื่อเปลี่ยนมาใช้กระดาษเป็นบรรจุภัณฑ์แทน นอกจากจะช่วยลดต้นทุนให้กับลูกค้า ยังตอบโจทย์ความต้องการของการค้ายุคใหม่ที่เน้นใส่ใจสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนอีกด้วย

สะท้อนให้เห็นว่า ความสำเร็จในการพยายามลดต้นทุนให้กับลูกค้า ทั้งการเปลี่ยนมาขนส่งทางเรือ หรือการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่ ล้วนเป็นการนำนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง




อีกหนึ่งตัวอย่าง SME ภาคเกษตร ที่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองเพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจได้อย่างน่าสนใจ คือ สวนกล้วยไม้ ‘มานะ ออร์คิด’ โดยบริษัท พราวด์ ออร์คิด(ไทยแลนด์) จำกัด ที่ คุณเอกณัฏฐ์ คูเจริญชัยมานที (คุณมานะ) ผู้พัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้ไทยอวดสายตาชาวต่างชาติได้อย่างน่าภาคภูมิใจ จากเกษตรกรที่ปลูกดอกไม้เพื่อตัดดอกขายส่งที่ตลาด ซึ่งมีรายได้เพียงแค่พอครองชีพในรายวันจนธุรกิจเติบโตมูลค่าหลักพันล้านบาท 

จุดเปลี่ยนสำคัญของคุณมานะ คือ การได้รับโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงการวิจัยของสถานีวิจัยเกษตรบางขุนนนท์ จากความสามารถในการพัฒนากล้วยไม้สายพันธุ์ใหม่ ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ “มานะ ออร์คิด” ได้พัฒนาต่อยอดจากการสั่งสมประสบการณ์ และองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัย จนสามารถขยับขยายธุรกิจสู่ฟาร์มกล้วยไม้ขนาดใหญ่ บนพื้นที่กว่า 200 ไร่

ปัจจุบัน ‘มานะ ออร์คิด’ สามารถพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้ลูกผสม ให้มีสีสันสวยงามหลากหลายกว่า 10 เฉดสี นับร้อยสายพันธุ์ จนเป็นที่ยอมรับในวงการกล้วยไม้ไทย อีกทั้งยังเปิดฟาร์มเป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้สกุลหวายระดับประเทศด้วย

 

เพิ่มมูลค่าให้สินค้ามีความโดดเด่น

อีกหนึ่งตัวอย่างในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าตัวเอง นอกจากกล้วยไม้จะเป็นไม้ประดับ และตัดดอกขายแล้ว ยังสามารถเพิ่มมูลค่า โดยพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ ชากล้วยไม้ เข็มกลัดดอกกล้วยไม้ กำไล ต่างหู สร้อยคอจี้ดอกกล้วยไม้ ห่วงกล้วยไม้ที่ใช้เสียบผ้ากันเปื้อน ผ้าพันคอ กล้วยไม้อบแห้งในโหลแก้ว ฯลฯ

โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดนี้ทำมาจากดอกกล้วยไม้จริง ผ่านกระบวนการผลิตโดยใช้วัสดุเคลือบชนิดพิเศษที่ช่วยคงความสดใสของดอกกล้วยไม้ให้อยู่ได้นานหลายปี



อย่างเช่น ‘สร้อยคอจี้กล้วยไม้’ ที่นำมาประดับคริสตัลเป็นประกายสวยงามนั้น มีราคาขายอยู่ที่เส้นละ 3,000 บาทเลยทีเดียว 

นอกจากกล้วยไม้จะนำมาเพิ่มมูลค่าด้วยการนำมาทำเป็นเครื่องประดับได้หลากหลายรูปแบบแล้ว ยังสามารถนำมาพัฒนาเป็นเครื่องสำอางได้อีกด้วย นั่นคือ ‘เซรั่มสารสกัดจากกล้วยไม้ดำ (Black Orchid Serum)’ ถือเป็นสินค้าไฮไลท์อีก 1 ผลิตภัณฑ์ของ ‘มานะ ออร์คิด’ ที่สร้างชื่อเสียงให้ฟาร์มแห่งนี้ ที่ได้จดสิทธิบัตรแล้ว ซึ่งกล้วยไม้ดำอุดมไปด้วยสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่มีสรรพคุณมากมาย อาทิ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ หรือ Anti-Aging ฯลฯ



ปัจจุบัน นอกจากคนไทยแล้ว นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมซื้อผลิตภัณฑ์กล้วยไม้แปรรูปเหล่านี้ ติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝาก และยังมีผู้ประกอบการต่างประเทศให้ความสนใจซื้อไปขายต่ออีกด้วย ซึ่งล่าสุดได้ส่งออกกล้วยไม้อบแห้งในโหลแก้วไปจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นด้วย


ผู้ประกอบการ SME ทั้ง 2 รายนี้ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่นับวันจะยิ่งมีผู้แข่งขันรายใหม่เข้ามาทำตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ  

จะเห็นได้ว่า การลงทุนด้านนวัตกรรมและการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต เพราะนอกจากจะทำให้สินค้ามีความโดดเด่นแล้ว ยังสร้างความได้เปรียบคู่แข่งในตลาด ดังนั้น นวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จได้ จะต้องสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าและธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพ


อ้างอิง : 
https://www.facebook.com/sensethaispa/photos
https://www.wipo.int/global_innovation_index/en/2022/ 
(https://www.nxpo.or.th/th/11221/) 
https://www.nia.or.th/bookshelf/view/230) 
https://www.thaigov.go.th/infographic/contents/details/7209
https://www.nstda.or.th/home/knowledge_post/imd-competitiveness-ranking-2022/
https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1074254
https://www.facebook.com/th.competitiveness/

Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิก หรือสายด่วน 1333


Related Article

ธุรกิจยุคใหม่ต้อง ‘ไร้สัมผัส’ SME in Focus

ธุรกิจยุคใหม่ต้อง ‘ไร้สัมผัส’

ความร้ายแรงของโควิด-19 ที่มนุษย์โลกต้องเผชิญนั้นยิ่งกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโรคชนิดใดๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาบนโลกนี้ เพราะทำลายทั้งชีวิตและระบบเศรษฐกิจขอ...
155426 | 09/06/2020
5 เทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล กระแสแรงแห่งปี 2021 SME in Focus

5 เทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล กระแสแรงแห่งปี 2021

ปี 2020 เป็นหนึ่งในปีที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีอิทธิพลอย่างมากกับทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคสังคมทั่วโลก ทั้งกับการดำเนินชีวิตของผู้คนและแนวทางการดำเนินธุรกิจข...
117067 | 21/01/2021
‘โกลเด้น โรบอท’ ยืนหนึ่งด้าน High Quality ยกระดับอุตสาหกรรม Robotic ไทยสู่ระดับโลก SME in Focus

‘โกลเด้น โรบอท’ ยืนหนึ่งด้าน High Quality ยกระดับอุตสาหกรรม Robotic ไทยสู่ระดับโลก

ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยได้มีการนำ ‘นวัตกรรมหุ่นยนต์’ มาใช้ในการทำงานมากขึ้น แต่การจะทำให้ระบบหุ่นยนต์สัญชาติไทยได้รับการยอมรับ และเชื่อมั่นในเทคโนโลย...
102797 | 20/05/2022
banner