‘OnionShack’ คิดค้นระบบประเมินคุณภาพผลผลิตการเกษตรด้วย AI มุ่งสร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรม
‘OnionShack’ ธุรกิจ Customized AI สัญชาติไทย ที่เชี่ยวชาญในด้าน Natural Language Processing (NLP) หรือ เทคโนโลยีการประมวลผลให้ปัญญาประดิษฐ์เข้าใจภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันได้ และ Image Processing
ซึ่งเป็นการประมวลผลภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ กับผลงานล่าสุดที่ช่วยขับเคลื่อนพัฒนาเทคโนโลยี AI เข้ามาแก้ Pain Point ของผู้ประกอบการในภาคการเกษตรของไทย ธุรกิจนี้มีความเป็นมาอย่างไร และนำ AI มาใช้ประโยชน์อะไรบ้าง Bangkok Bank SME ขอพาทุกคนเรียนรู้และทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน

จุดประกาย AI ในอุตสาหกรรมอสังหาฯ
‘OnionShack’ เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2017 โดยคุณปิยพจน์ เกษมภักดีพงษ์ CEO และ Co-Founder ของบริษัท OnionShack เล่าว่า ในตอนนั้น บริษัทรับทำระบบ AI ในแอปพลิเคชัน Home Service ของแสนสิริ สำหรับให้ลูกบ้านใช้งานในการจองห้องต่าง ๆ หรือระบบควบคุม Home Automation หรือติดต่อนิติบุคคล

“สมัยแรก ๆ Voice Assistant ในแอปฯ ยังไม่มีภาษาไทย เราจึงเข้าไปทำให้แอปฯ Home Service ให้สามารถคุยภาษาไทยกับลูกบ้านได้ โดยมี 4 ฟีเจอร์หลัก ๆ ประกอบด้วย การควบคุม Home Automation อย่าง ปิดไฟ-เปิดไฟ การจองห้องต่าง ๆ เช็คค่าคงค้าง และเรียกช่างซ่อมบำรุง จากนั้นทางแสนสิริ มีความสนใจจึงเริ่มมีการลงทุนในบริษัทของเราในปี 2018 และถือหุ้นอยู่ส่วนหนึ่ง ผ่านทางบริษัท Ventures ของเขา ชื่อ Siri Ventures”

พัฒนา AI ด้วยจุดขาย Natural Language Processing
หลังจากนั้น ‘OnionShack’ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้าน Natural Language Processing เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ ที่มีชื่อว่า ‘แสนรู้’ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับ Google Assistant, Voice Assistant, Chatbot หรือหุ่นยนต์ ให้คนทั่วไป และบริษัทอื่น ๆ ได้ใช้งาน
คุณปิยพจน์ ยกตัวอย่างให้ฟังว่า “สมมุติมีคนพิมพ์คุยกับ Chatbot ของร้านขายของร้านหนึ่งบน Facebook และ Chatbot อาจแนะนำให้เขาเข้ามาดูสินค้าที่หน้าร้าน ซึ่งปกติปัญหาที่ลูกค้าเจอหลังจากเข้ามาที่ร้านค้า มักจะเจอกับเจ้าหน้าที่คนละคนกับที่คุยด้วยในตอนแรก
ทำให้ต้องเริ่มคุยทุกอย่างใหม่ แต่ระบบที่เราทำ จะมาช่วยแก้ Pain Point พวกนี้ โดยจะจดจำประวัติการพูดคุยว่าลูกค้าต้องการอะไร สนใจสินค้าตัวไหน พอลูกค้าเดินทางมาถึงที่ร้านค้า จะมีหุ่นยนต์คอยแนะนำ และพาไปดูสินค้าที่ลูกค้าสนใจ
ซึ่งหุ่นยนต์จะแนะนำรายละเอียดของสินค้า ไปจนถึงปิดการขาย โดยที่จะปิดการขายกับหุ่นยนต์ หรือกับพนักงานก็ได้ นี่ก็คือ Use Case ของ ‘แสนรู้’ ”
ส่วนเรื่องของราคา ถ้าเป็นระบบที่ต้องมีการ Learning ใหม่ให้ AI ทางเราจะคิดเป็นงาน ๆ ไปว่าโมเดลนี้เท่าไหร่ ซึ่งจะรวมค่า Training ระบบ ค่าซ่อมบำรุงต่อปี ถ้าคนที่มีงบไม่เยอะ Assistant ก็อาจจะตอบโจทย์ เพราะคิดราคาเป็น Pay per Use เหมาะกับลูกค้า SME

นำเสนอบริการระบบ AI สู่ภาคการเกษตร ด้วยเทคโนโลยี Image Processing
คุณปิยพจน์ ระบุว่า “พอมาถึงช่วงโควิด จะสังเกตว่า หุ่นยนต์ของเราทำงานที่หน้าร้าน เพราะฉะนั้นจะขายค่อนข้างยาก ช่วงนั้นเราเลยมาทำโปรเจ็คต์ Blockchain อยู่ประมาณเกือบ 2 ปี หลังจากนั้น มาโฟกัสที่ Image Processing”
จุดนี้เองทำให้เกิด ‘ระบบประเมินอ้อยก่อนหีบด้วยเทคโนโลยีประมวลผลภาพและปัญญาประดิษฐ์’ ที่ ‘OnionShack’ พัฒนาขึ้นมาเพื่อหวังแก้ปัญหา และสร้างมาตรฐานใหม่ในการประเมินคุณภาพผลิตผลทางการเกษตร

“ระบบนี้เป็นโปรเจ็คต์ที่เกิดขึ้นจากโรงงานน้ำตาลเกษตรไทย เขามี Pain point เรื่องการคัดเกรดอ้อย คือ ปกติอ้อยจากเกษตรกรที่ถูกนำใส่รถบรรทุกมาส่งเข้าโรงงานน้ำตาลจะวางซ้อน ๆ กัน เวลาตีราคา เขาใช้วิธีดูด้วยตาเปล่า ณ จุดรับรถ คือคนตีราคาอยู่บนอาคารแล้วมองลงมาที่รถ ซึ่งจะเห็นแค่อ้อยที่วางอยู่ด้านบน แต่ไม่เห็นอ้อยที่วางซ้อนอยู่ด้านล่าง อาจทำให้โรงงานตีราคาผิดพลาด”
ช่วงแรก โรงงานพยายามแก้ปัญหานี้ โดยเพิ่มจุดประเมินราคาเป็น 2 จุด ซึ่งจุดที่เพิ่มมาจะเป็นลักษณะพื้นที่ให้รถวิ่งเข้าไปจอด และเทอ้อยทั้งหมดลงมา แต่ด้วยการประเมินจากสายตาของพนักงานแต่ละคนอาจไม่แม่นยำเท่าที่ควร ทำให้เขามีปัญหากับเกษตรกร เช่น เกษตรกรคิดว่าอ้อยของเขาควรจะได้เกรดนี้ ทำไมถึงประเมินแล้วได้ราคาเท่านี้ หรือคนประเมินต่างกัน การให้เกรดก็ต่างกัน ไม่มีมาตรฐานในการประเมิน จึงติดต่อมาหาเรา เพื่ออยากให้ระบบ AI มาช่วยจัดการ ซึ่งการแก้ปัญหาของเราเป็นการใช้เทคโนโลยี Image Processing ที่เราถนัดและเชี่ยวชาญ

พอเราทำระบบ AI ในการประมวลผลภาพ โดยติดกล้องที่จุดรับรถจุดแรก และจุดที่เทอ้อย เพื่อเก็บภาพมาเทรนโมเดล ให้พนักงานที่ทำหน้าที่คัดเกรดอ้อยมาสอนว่า อ้อยลักษณะนี้จัดเป็นเกรดอะไร เสร็จแล้วเราก็ปล่อยให้ AI เรียนรู้ และปรับปรุงโมเดลมาเรื่อย ๆ จนได้ผลที่ดีที่สุดเท่าที่ทำได้

ตอนนี้ผลความแม่นยำที่เราทำได้อยู่ประมาณ 94% สำหรับการแบ่งเกรดอ้อย 6 เกรด ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งกับเกษตรกร และช่วยลดต้นทุนของแรงงานที่ทำหน้าที่ประเมินอ้อยด้วย ซึ่งปกติจะมีรถบรรทุกอ้อยเข้าโรงงานตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้โรงงานอาจต้องจ้างพนักงานหลายคนมาทำหน้าที่ในส่วนนี้ แต่ AI คือการลงทุนในระบบเดียวเป็นเงินก้อน ในระยะยาวก็จะถูกกว่าจ้างแรงงาน

“นอกจากอ้อย ตอนนี้เรามีลูกค้ามันสำปะหลังด้วย ส่วนลูกค้าทางการเกษตรอื่น ๆ ที่ต้องการคัดแยกเกรดวัตถุดิบ เราสามารถเข้าไปช่วยทำได้ อาจจะปรับวิธีการนิดหน่อย หรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้ Image Processing เราก็ยินดีครับ”

‘OnionShack’ ปูทาง AI เพื่อการเรียนรู้สู่เยาวชน
คุณปิยพจน์ กล่าวว่า “ตอนนี้ เรามีสินค้าเกี่ยวกับ AI Training สำหรับเด็กเล็ก เป็นพวก Online Learning Platform เรามองว่าต่อไปบางอาชีพอาจจะถูก Disrupt ถ้าเด็กได้เรียนรู้การใช้ AI ในทิศทางที่ถูกต้อง ในอนาคตเขาอาจเลือกทิศทางในการประกอบอาชีพได้ดีขึ้น และจะมีไปเทรนให้เด็ก ๆ ตามโรงเรียนด้วย โดยมี Target เป็นเด็กช่วงประมาณป. 1 - ม. 3 ครับ”
เด็กระดับชั้น ม. 1 - ม. 6 จะมีการเรียนโปรแกรม Coding แบบง่าย ๆ อยู่แล้ว แต่วิชาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี AI แบบจริง ๆ ยังไม่มี ซึ่งปัจจุบัน AI เข้ามามีบทบาทมาก อีกทั้งบางงานในอนาคตอาจจะใช้คนน้อยลง แต่เด็กยังเรียนด้วยหลักสูตรเก่าอยู่ เราเห็นโอกาสที่จะเข้าไปร่วมพัฒนาหลักสูตรกับโรงเรียนประถม และมัธยมต้นได้ ซึ่งจะสอนพื้นฐานก่อน แล้วค่อย ๆ ทยอยสอนคอนเซ็ปต์ Deep Learning เพื่อสร้างบุคลากรที่ดีในอนาคตเป็นสิ่งที่เราทำโดยไม่เน้นหากำไรในส่วนนี้

นอกจากนี้ คุณปิยพจน์ ยังมีมุมมองว่า เทคโนโลยี AI มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด บางอย่างเราไม่เคยคิดว่า AI จะทำได้ ปัจจุบันทำได้ และทำเร็วกว่าคนค่อนข้างเยอะ ChatGPT ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่แน่ว่าในอีก 5 ปี ถึง 10 ปีข้างหน้า เราอาจได้เห็นวิวัฒนาการใหม่ ๆ ของ AI ที่มาเขย่าวงการเทคโนโลยีโลกอีกครั้งก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้...