แกะรอยความสำเร็จ ‘ประยูร ออคิดส์’ เพาะกล้วยไม้อย่างไร? ให้โตไกลระดับโลก!

SME in Focus
12/05/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 6123 คน
แกะรอยความสำเร็จ ‘ประยูร ออคิดส์’ เพาะกล้วยไม้อย่างไร? ให้โตไกลระดับโลก!
banner
เมื่อการแข่งขันในธุรกิจเพาะปลูกกล้วยไม้ร้อนแรงไม่แพ้ธุรกิจอื่น ‘ประยูร ออคิดส์’ ธุรกิจเพาะขยายพันธุ์กล้วยไม้ที่อยู่ในวงการนี้มากว่า 43 ปี จึงคิดหาวิธีที่จะทำธุรกิจให้ ‘แตกต่าง’ แต่ ‘เติบโตอย่างยั่งยืน’ ในรูปแบบของตัวเอง

จากเด็กหนุ่มที่คลุกคลีอยู่ในธุรกิจกล้วยไม้มาตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นจากธุรกิจเล็ก ๆ พัฒนาสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจส่งออกกล้วยไม้อันดับ 1 ของประเทศไทย จนสามารถส่งออกเนื้อเยื่อพันธุ์กล้วยไม้กว่า 20 ประเทศทั่วโลกได้



จาก Passion สู่ธุรกิจกล้วยไม้ด้วยใจรัก

คุณประยูร พลอยพรหมมาศ ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดประยูร ออคิดส์ เล่าถึงที่มาของการทำธุรกิจกล้วยไม้ว่า ตนคลุกคลีอยู่ในวงการกล้วยไม้มาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากคุณพ่อทำธุรกิจกล้วยไม้ร่วมกับคุณอา ซึ่งขณะนั้นเป็นบริษัทส่งออกกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้มีโอกาสติดตามท่านไปดูงานในสถานที่ต่าง ๆ ได้เห็นขั้นตอนการทำงานมาตลอด จึงเกิดความรัก ความผูกพันในธุรกิจกล้วยไม้และอยากพัฒนาให้ธุรกิจกล้วยไม้เติบโตมากกว่าเดิม จึงเป็นที่มาของการทำธุรกิจเพาะขยายพันธุ์กล้วยไม้ ที่ถือว่าอยู่ในสายเลือดก็ว่าได้ 



การดำเนินธุรกิจในช่วงแรก เมื่อเห็นว่าเรียนรู้ธุรกิจมากเพียงพอแล้ว จึงขอคุณอาและคุณพ่อ ออกมาเริ่มธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองตอนอายุ 24 ปี ในรูปแบบซื้อมาขายไป โดยซื้อขายกล้วยไม้ทุกชนิด จากประสบการณ์และความชำนาญทำให้เริ่มมองตลาดออก โดยเฉพาะความนิยมของตลาดเมืองนอกที่มีสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน และเน้นกล้วยไม้พันธุ์ไม้เมืองหนาว ก็ศึกษาดูว่าพันธุ์ไหนได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดและเป็นพันธุ์ที่มีโอกาสทางการตลาดในระยะยาว 

“เราเริ่มต้นจากมองว่า คุณอาทำอะไร? เราต้องทำให้แตกต่าง ตลาดไหนที่คุณอาทำ...เราจะไม่ทำ เพื่อไม่เป็นการทำตลาดที่ซ้ำซ้อน โดยธุรกิจกล้วยไม้ของคุณอาจะเน้นรูปแบบค้าปลีก ส่วนเราทำในรูปแบบค้าส่ง และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ทำเหมือนกับห้องแล็บ ซึ่งมองว่าสิ่งนี้จะเป็นจุดแข็งของธุรกิจเราที่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน จึงเริ่มคิดหาวิธีการเพาะเนื้อเยื่อให้มีความพิเศษ เพื่อให้มี ‘ความแตกต่าง แต่ยั่งยืน’ ” 



เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องมืด ช่วยลดพลังงาน ลดต้นทุนการผลิต

คุณประยูร ผู้บุกเบิกและพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องมืด เปิดเผยว่า เป็นนวัตกรรมที่ตนคิดค้นขึ้นมาเอง สามารถลดการใช้พลังงาน ลดต้นทุนเรื่องค่าใช้จ่ายให้ถูกลงได้อย่างมาก เนื่องจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ด้วยเทคนิคนี้จะใช้เวลากว่า 60 - 70% ของกระบวนการอยู่ในห้องมืด

“เราคิดค้นนวัตกรรมนี้มาเพื่อใช้ลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้พลังงาน โดยภายในห้องมืด 1 ห้องสามารถบรรจุเนื้อเยื่อได้หลายแสนขวด ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดวางเนื่องจากเราไม่ต้องใช้แสงเลย ซึ่งเทคนิคนี้ต่างจากการใช้แสงที่ต้องจัดเรียงขวดให้กล้วยไม้ทุกต้นได้รับแสงสม่ำเสมอกัน”



คุณประยูร พูดถึงความแตกต่างของเทคนิคการขยายพันธุ์ในห้องมืดว่า ข้อดีที่เด่นชัดคือช่วยให้กล้วยไม้ไม่เกิดการกลายพันธุ์ ซึ่ง ‘ประยูร ออคิดส์’ รับประกันการกลายพันธุ์ให้แก่ลูกค้าด้วย นอกจากนี้ยังยังช่วยเพิ่มการขยายจำนวนได้ดี เนื่องจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องมืด จะทำให้ข้อกล้วยไม้ยืด ยาวเร็วขึ้น เนื่องจากต้นไม้ใช้คลอโรฟิลในการสังเคราะห์แสง หากไม่มีแสงลำต้นจะยืดยาว เมื่อข้อยาวทำให้สามารถขยายจำนวนได้เร็ว ทำให้ลดต้นทุนการผลิตมาก



“การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแบบทั่วไปจะใช้แสงนีออนกระตุ้นให้มีการเจริญเติบโตตามกำหนดวัน หรือช่วงอายุกล้วยไม้ เราจึง คิดมุมกลับว่า ถ้าเราการกระตุ้นด้วยสารอาหารธรรมชาติร่วมกับสารเคมี ใช้สารอาหารควบคุมการเติบโตของพืช แม้พืชจะไม่ถูกแสงก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี ปัจจุบันมีเพียง ประยูร ออคิดส์ เจ้าเดียวเท่านั้นที่ใช้เทคนิคนี้กับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้”



มอง Pain Point ลูกค้า คือปัญหาของเรา

สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตและยั่งยืนได้นั้น เราจะมองเพียงแค่ตัวเราไม่ได้ แต่ต้องคิดเผื่อสิ่งที่ลูกค้าควรจะได้รับประโยชน์ด้วย และเรื่องต้นทุนค่าขนส่งก็เป็นอีกหนึ่ง Pain Point ของลูกค้าที่คุณประยูร ให้ความสำคัญ จึงได้คิดค้นนวัตกรรม เทคโนโลยีการใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิลแทนขวดแก้ว และนวัตกรรมการขนส่งทางเรือแทนการส่งทางเครื่องบินซึ่งมีต้นทุนสูงกว่ามาก

เพราะบรรจุภัณฑ์สำหรับขนส่งเนื้อเยื่อกล้วยไม้และต้นอ่อนกล้วยไม้ หากส่งออกต่างประเทศจะใส่ในขวดแก้วและบรรจุในกล่องโฟมกันกระแทก และขนส่งทางเครื่องบินเป็นหลัก เพื่อความรวดเร็วและป้องกันความเสียหายของเนื้อเยื่อ แต่ลูกค้ากลับต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงมาก 



ด้วย Pain Point นี้เองทำให้ ‘ประยูร ออคิดส์’ พยายามค้นคิดหาทางออกเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้า จนค้นพบนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งต้นอ่อนกล้วยไม้ในขวดแก้วทางเรือขึ้นมา ทำให้สามารถลดต้นทุนการขนส่งให้กับลูกค้าได้มากกว่า 85% และได้รับรางวัลนวัตกรรมด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์  จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

จากแนวคิดที่ต้องการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากการขนส่งทางอากาศที่สูงมากให้กับลูกค้า จึงเริ่มมองหาทางเลือกในการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งการ ‘ขนส่งทางเรือ’ ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี เพราะราคาต่ำกว่าการขนส่งทางเครื่องบิน 1- 3 เท่า

ขณะเดียวกัน คุณประยูร ยังมองหาวัสดุที่ไม่หนามากเพื่อเพิ่มพื้นที่การขนส่งทางเรือ และป้องกันการกระแทกจากการขนส่งโดยไม่ต้องใช้โฟม
 
“เมื่อก่อนเราบรรจุต้นอ่อนกล้วยไม้ในขวดบรรจุในกล่องกระดาษอัดโฟมเพื่อป้องกันการกระแทกและส่งทางเครื่องบิน เมื่อลองออกแบบและเปลี่ยนวัสดุโฟมมาใช้กระดาษลูกฟูกแทน ทำให้มีพื้นที่เหลือบรรจุขวดแก้วได้มากขึ้น จากเดิม 1 กล่อง เราบรรจุได้ 20 ขวด พอเปลี่ยนมาใช้กระดาษลูกฟูกสามารถบรรจุได้ถึง 24 ขวด ทำให้ลูกค้าประหยัดมากขึ้น”

ที่สำคัญ คุณประยูร มองว่าโฟมเป็นวัสดุที่ก่อให้ขยะพลาสติกซึ่งเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งหลายประเทศเริ่มบังคับใช้มาตรการภาษีพลาสติกสำหรับสินค้านำเข้า เพื่อกีดกันทางการค้า ซึ่งเมื่อเปลี่ยนมาใช้กระดาษเป็นบรรจุภัณฑ์แทน นอกจากจะช่วยลดต้นทุนให้กับลูกค้า ยังตอบโจทย์ความต้องการของการค้ายุคใหม่ที่เน้นใส่ใจสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน



ทั้งนี้ คุณประยูร ได้ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เช่น การส่งออกกล้วยไม้ไปประเทศบราซิล ขวดแก้ว 1 ขวด ค่าขนส่งทางเครื่องบินประมาณ 7 เหรียญ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 250 บาท หากต้องการส่ง 10,000 ขวด จะมีค่าใช้จ่าย 70,000 เหรียญ หรือประมาณ 2,500,000 บาท และใช้เวลาขนส่ง 40 วัน

แต่ปัจจุบันด้วยนวัตกรรมการขนส่งทางเรือ ด้วยตู้คอนเทนเนอร์ติดแอร์ และการใช้ภาชนะพลาสติกรีไซเคิลทดแทน ซึ่งมีคุณภาพไม่แตกต่างจากขวดแก้ว เนื่องจากภาชนะพลาสติกดังกล่าว ได้ผ่านการออกแบบโดยเฉพาะ ทั้งขนาดและรูปทรง แล้วนำมาผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงแกมมาก่อนนำไปใช้งานทุกครั้ง

จึงเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายการขนส่งได้ถึง 85% จากประมาณ 2,500,000 บาท เหลือเพียง 375,000 บาท โดยใช้เวลาขนส่ง 40 วัน ถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาต้นทุน



สะท้อนให้เห็นว่า ความสำเร็จในการพยายามลดต้นทุนให้กับลูกค้า ทั้งการเปลี่ยนมาขนส่งทางเรือ หรือการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่ใครก็ทำได้ เพราะข้อจำกัดการขนส่งทางเรือที่ต้องใช้ระยะเวลานาน การเก็บรักษาในตู้แอร์คอนเทนเนอร์ที่มืด อาจสร้างความเสียหายให้กับเนื้อเยื่อและต้นอ่อนกล้วยไม้ได้ แต่ที่ ‘ประยูร ออคิดส์’ สามารถทำได้ ด้วยเทคนิคเฉพาะที่ทำได้ที่นี่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น 



ได้รับรางวัลนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ

ด้วยแนวคิดอันเป็นประโยชนนี้ทำให้ ‘ประยูร ออคิดส์’ ได้รับรางวัลนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ จากโครงการ ‘นวัตกรรมดี ไม่มีดอกเบี้ย’ ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่สนับสนุนเงินอุดหนุนในรูปแบบของการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับโครงการนวัตกรรมที่อยู่ในระยะเริ่มต้นสู่กระบวนการปฏิบัติจริง ซึ่ง ‘ประยูร ออคิดส์’ ได้รับถึง 2 รางวัลด้วยกันคือ

1.นวัตกรรมการผลิตในห้องมืด ประโยชน์คือ ลดใช้พลังงาน ลดการสูญเสีย เพิ่มผลผลิต และลดการกลายพันธุ์

2.นวัตกรรมการส่งออกทางเรือ ประโยชน์คือ ลดต้นทุนในการขนส่งจากปกติได้ถึง 85% และส่งกล้วยไม้ได้ไม่จำกัดจำนวนขวด



สิ่งนี้เองทำให้การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของ ‘ประยูร ออร์คิด’ เติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีกำลังการผลิตถึง 18 ล้านต้นต่อปี โดยเป็นตลาดธุรกิจกล้วยไม้ 70 % และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 30 % มีตลาดส่งออก 95% และ 5% โดยมีส่งออกกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ยุโรป สหรัฐอเมริกา อเมริกาใต้ ญี่ปุ่น อิสราเอล  ออสเตรเลียและอินเดีย  ฯลฯ



กลยุทธ์การตลาดที่แตกต่างของ ‘ประยูร ออคิดส์’

คุณประยูร พูดถึงข้อดีในการดำเนินธุรกิจแบบไม่ใช้เครดิต แต่ให้เครดิตกับลูกค้าว่า เป็นจุดแข็งของธุรกิจเรา ซึ่งแนวคิดนี้ ถือเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน เพราะต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างมาก แต่ด้วยมาตรฐานและความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าที่ทำต่อเนื่องยาวนานกว่า 43 ปี ทำให้ลูกค้าไว้วางใจและเชื่อมั่นใน ‘ประยูร ออคิดส์’ นั่นเอง 



“ธุรกิจห้องแล็บ ลูกค้าสามารถสั่งสินค้าล่วงหน้าได้ เช่น ลูกค้านำพันธุ์ก้านช่อดอกเป็นร้อยก้านมาให้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยมีสัญญาอีก 2 ปี ในการจัดส่งสินค้าไปให้ แต่ลูกค้าไม่ต้องจ่ายเงินมัดจำก่อนเลยแม้แต่บาทเดียว สิ่งนี้ทำให้ลูกค้าพอใจมาก” 





ก้าวต่อไปของ ’ประยูร ออคิดส์’

คุณประยูร กล่าว รางวัลนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ เป็นเหมือนใบเบิกทางช่วยให้นวัตกรรมการขนส่งออกกล้วยไม้ของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรงนี้เป็นประโยชน์กับเรามาก และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร หรือผู้ประกอบการ SME ด้วย 



แง่คิดการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในแบบ ‘ประยูร ออคิดส์’

จากการสนทนากัน คุณประยูร เจ้าของฟาร์ม ‘ประยูร ออคิดส์’ พูดย้ำเสมอว่า ‘การลดต้นทุน’ เป็นเรื่องสำคัญสิ่งนี้กลายเป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าเดิมให้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น



“แม้การค้นพบนวัตกรรมเป็นเรื่องดีและยิ่งใหญ่ แต่อาจเกิดขึ้นได้ยากและไม่บ่อยนัก บางครั้งการค้นพบหนทางใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา อาจจะเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับแก้ไขสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่ถ้าคิดให้ลึกซึ้งมากขึ้น เรียนรู้ และหมั่นแสวงหาโอกาส อาจทำให้พบช่องทางดี ๆ ในการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ที่ดีกว่า”



จะเห็นได้ว่า จากสิ่งที่คุณประยูร ได้เห็นได้สัมผัสในตอนเด็ก กลายเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ เริ่มทำตามสิ่งที่คิดและใฝ่ฝันที่จะทำให้เป็นจริง สะท้อนว่าคุณประยูร มีความเข้าใจใน 4 ด้าน คือ 1. เข้าใจธุรกิจที่ทำอย่างถ่องแท้ 2. เข้าใจตลาดโดยศึกษาตลาดก่อนที่จะส่งสินค้าออกไปขาย 3. เข้าใจปัญหาและความต้องการของลูกค้า 4. เข้าใจวงจรธุรกิจ ไม่มองแต่ความสำเร็จ แต่เข้าใจความเป็นไปของตลาดที่ทำอยู่อย่างแท้จริง เพราะทำในสิ่งที่ตนเองถนัด ทำให้ผลลัพธ์ออกมาดีและเปี่ยมไปด้วยคุณภาพนั่นเอง



Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิก หรือสายด่วน 1333


Related Article

ธุรกิจยุคใหม่ต้อง ‘ไร้สัมผัส’ SME in Focus

ธุรกิจยุคใหม่ต้อง ‘ไร้สัมผัส’

ความร้ายแรงของโควิด-19 ที่มนุษย์โลกต้องเผชิญนั้นยิ่งกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโรคชนิดใดๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาบนโลกนี้ เพราะทำลายทั้งชีวิตและระบบเศรษฐกิจขอ...
155426 | 09/06/2020
5 เทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล กระแสแรงแห่งปี 2021 SME in Focus

5 เทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล กระแสแรงแห่งปี 2021

ปี 2020 เป็นหนึ่งในปีที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีอิทธิพลอย่างมากกับทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคสังคมทั่วโลก ทั้งกับการดำเนินชีวิตของผู้คนและแนวทางการดำเนินธุรกิจข...
117067 | 21/01/2021
‘โกลเด้น โรบอท’ ยืนหนึ่งด้าน High Quality ยกระดับอุตสาหกรรม Robotic ไทยสู่ระดับโลก SME in Focus

‘โกลเด้น โรบอท’ ยืนหนึ่งด้าน High Quality ยกระดับอุตสาหกรรม Robotic ไทยสู่ระดับโลก

ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยได้มีการนำ ‘นวัตกรรมหุ่นยนต์’ มาใช้ในการทำงานมากขึ้น แต่การจะทำให้ระบบหุ่นยนต์สัญชาติไทยได้รับการยอมรับ และเชื่อมั่นในเทคโนโลย...
102797 | 20/05/2022
banner