‘HARV’ แนวคิด Circular ของทายาทธุรกิจรุ่น 3 โรงงานเฟอร์นิเจอร์ สร้างแบรนด์รักษ์โลกที่ผลิตจากเศษเหลือทิ้ง
ฮาร์ฟ (HARV) แบรนด์ผู้ผลิตสินค้าตกแต่งบ้านที่แตกไลน์ธุรกิจจาก บริษัทแกรนด์ดิส จำกัด โรงงานผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์น็อคดาวน์จากไม้ปาร์ติเกิ้ลบอร์ด แบรนด์ Inhome Furniture สู่การสร้างแบรนด์น้องใหม่ที่นำแนวคิด Circular Economy มาประยุกต์จากวัสดุเหลือใช้ ของเหลือทิ้ง
พัฒนาและออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีความเป็น ‘Green Product’ ตลอดวงจรชีวิตของสินค้า ตั้งแต่การรีไซเคิลเศษวัสดุ การออกแบบที่เน้นใช้ประโยชน์วัสดุอย่างคุ้มค่ามากที่สุด และรับคืนสินค้า หรือรับซ่อมเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ นำไปบริจาค หรือขายต่อมือสอง ทั้งหมดนี้ เริ่มจากเปลี่ยนวิธีคิด มองโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เตรียมพร้อมเพื่อรอเวลา ปรับแต่งแปลงโฉมวัสดุเหลือใช้สู่สินค้า Green Product Innovation

ภาพจาก : The Cloud
คุณชนน วระพงษ์สิทธิกุล ทายาทธุรกิจรุ่น 3 แบรนด์ Inhome โดยบริษัทแกรนด์ดิส จำกัด โรงงานผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์น็อคดาวน์จากไม้ปาร์ติเกิ้ลบอร์ด ธุรกิจครอบครัว (Family Business) ที่ก่อตั้งโดย ปึงจือฮวด (อากง) และคุณไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ในปี พ.ศ. 2526 กล่าวว่า หากมองที่ Mega Trend ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Sustainability) ตลาดส่วนใหญ่ยังเรียกได้ว่าเป็น ‘ออร์แกนิค’ คือ ยังไม่มีสารเร่งอะไรที่จะทำให้ตลาดเปลี่ยนไปในทิศทางนี้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น รูปการณ์ของเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมจะค่อย ๆ เปลี่ยนผ่าน
กรณีที่น่าจับตา เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ได้มีการออกมาตรการและข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย เพื่อกีดกันสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ของการทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการที่สูงขึ้น หรือไม่สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายในประเทศนั้น ๆ ได้อีก ขณะที่ประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีข้อบังคับหรือกฎระเบียบการค้าในด้านนี้อย่างชัดเจน แต่คาดว่าในอนาคตอาจเป็นเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งเปลี่ยนไปตาม Maga Trend การค้าของโลกยุคใหม่ ดังนั้น การที่ธุรกิจเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ตอนนี้ ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่ารอให้เกิดเป็นข้อบังคับก่อน แล้วค่อยปรับตัวซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นอาจจะสายเกินไป

ภาพจาก : The Cloud
เริ่มจากเศษไม้เหลือทิ้ง
คุณชนน กล่าวว่า เริ่มนำเศษไม้มาใช้เพราะรู้สึกเสียดาย ทั้งหมดเป็นไม้ใหม่ที่นำไปทำเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่มักจะมีเศษไม้เหลือที่ตัดทิ้ง แต่นำไปใช้ประโยชน์ได้ยาก ดังนั้นจึงต้องมีการขึ้นรูปทรงใหม่ และใช้การออกแบบเข้ามาช่วย เป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ฮาร์ฟ (HARV) โดยนำเศษไม้เหล่านี้มาใช้ประโยชน์และขายได้ แม้ยอดขายไม่ได้เยอะมาก แต่ทำให้ธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น แทนที่จะทิ้งหรือชั่งกิโลขาย
“ตอนนี้แบรนด์ยังไม่ถึงกับเป็น Zero Waste 100% แต่กำลังไปสู่จุดนั้น โดยการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy )มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแบรนด์ฮาร์ฟ (HARV) ที่ย่อมาจาก Harvest นิยามว่า การเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากธุรกิจที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์มากว่า 40 ปี และเก็บเกี่ยวคุณค่าของวัสดุที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่ามากที่สุด”

ภาพจาก : The Cloud
ประยุกต์แนวคิด Circular Economy
แนวคิด Circular Material การนำวัสดุมาใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด โดยไม้ปาร์ติเกิ้ลบอร์ดทำมาจากกิ่งและก้านของไม้ยางพารา นำมาสับและอัดเป็นวัสดุทางเลือกทดแทนไม้ ซึ่งแต่เดิม คุณชนน บอกว่า การปิดผิวหน้าของวัสดุประเภทนี้ยังไม่คงทนแข็งแรง แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบันทำให้การเคลือบผิวหน้าวัสดุมีคุณภาพมากขึ้น เช่น การเคลือบผิวเมลามีนที่ใช้กับวัสดุประเภทจานชาม สามารถกันไอน้ำ ความร้อน และรอยขีดข่วนได้ดียิ่งขึ้น และบางขณะยังมีคุณสมบัติที่ดีกว่าไม้จริงด้วยซ้ำไป
นอกจากเศษไม้ยังมีเศษวัสดุอื่น ๆ ที่เกิดจากกระบวนการผลิต เช่น ขี้เลื่อย วัสดุ ABS ต่าง ๆ รวมถึงกระดาษ ก็พยายามนำมาใช้ โดยหาวิธีการให้สามารถนำวัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ได้

ภาพจาก : The Cloud
สำหรับการออกแบบที่เน้น Circular Design ผู้บริหารหนุ่ม ตั้งเป้าหมายว่า ในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งจะต้องใช้ประโยชน์จากไม้แผ่นไม่ต่ำกว่า 80 - 85% และที่เหลืออีก 15 - 20% ต้องไปคิดต่อว่าจะนำมาทำเป็นอะไร จนไม่เหลือทิ้ง ด้วยเหตุนี้ ฮาร์ฟ จึงมีการผลิตในแบบรายครั้ง หรือ Made to order ตามออเดอร์ลูกค้า เพื่อป้องกันสินค้าค้างสต็อก (Dead Stock)
แต่มีบางครั้งที่เลือกผลิตแบบ Micro lot เนื่องจากการผลิตในลักษณะครั้งละหลายชิ้น สามารถใช้ไม้ได้คุ้มค่ามากกว่าผลิตครั้งละชิ้น ตัวอย่างเช่น เฟอร์นิเจอร์บางอย่างผลิต 1 ชิ้นใช้ไม้ 3 แผ่น แต่หากผลิตเฟอร์นิเจอร์ 2 ชิ้นพร้อมกันจะใช้ไม้เพียง 4 แผ่นเท่านั้น ดังนั้น การผลิตจึงพิจารณาจากความเหมาะสมใน 2 กรณีนี้
“เดดสต๊อก คือของที่เราเสียพลังงานมากที่สุด ตั้งแต่วัสดุ แรงงาน เครื่องจักร จนผลิตออกมาเป็นสินค้า หากขายไม่ได้ยังต้องมีต้นทุนค่าพื้นที่จัดเก็บและการดูแลรักษาอีก จึงหลีกเลี่ยงผลิตเพื่อสต็อกสินค้าไว้ครั้งละมากๆ”
Circular Life วงจรชีวิตของสินค้า (Lifecycle product) แนวคิด คือ เฟอร์นิเจอร์เมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งานสามารถนำไปทำอะไร? หรือสามารถซ่อมให้กลับมาใช้ใหม่ได้หรือไม่? ดังนั้น ฮาร์ฟ จึงวางแผนจะรับคืนเฟอร์นิเจอร์ที่ชำรุดเสียหายเพื่อดำเนินการให้กลับมาใช้ใหม่ หรือขายต่อเป็นเฟอร์นิเจอร์มือสอง รวมถึงการนำไปบริจาคให้ผู้ที่ต้องการใช้งานต่อไป

ภาพจาก : Room Magazine
Collab กับแบรนด์อื่น
คุณชนน กล่าวว่า การ Collab (Collaboration) กับแบรนด์อื่น มองว่าบางอย่างเราทำคนเดียว และทำทุกอย่างไม่ได้ ดังนั้นการ Collab กับธุรกิจรายอื่นจะสามารถส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทั้งในแง่การผลิต และการแบ่งปันกลุ่มลูกค้า สิ่งนี้มองว่าจะได้มากกว่าเสีย แต่การ Collab อาจต้องเลือกธุรกิจที่มีแนวคิดคล้ายกัน หรือส่งเสริมกัน แม้จะมีการแบ่งปันกลุ่มลูกค้ากัน แต่ต้องไม่ใช่คู่แข่ง และมีจุดขายแตกต่างกัน สามารถอยู่ในที่เดียวกันได้ ที่ผ่านมามีการ Collab Marketing กับหลายแบรนด์ ซึ่งเป็นการตลาดที่ได้รับความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ภาพจาก : The Cloud
‘HARV KIND’ ชุมชน คนใส่ใจสิ่งแวดล้อม
คุณชนน กล่าวอีกว่า เนื่องจากมีพื้นที่สำหรับเก็บของ หรือนาน ๆ ครั้งจะนำเฟอร์นิเจอร์ในโรงงานมาจัดโปรโมชันลดราคา แต่พื้นที่ดังกล่าวยังใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ ในตอนแรกตั้งใจจะเปิดโชว์รูมแสดงสินค้าของแบรนด์ ฮาร์ฟ แต่เนื่องจากทำเลอยู่ห่างจากตัวเมืองพอสมควร จึงปรับเป็นร้านกาแฟเพื่อรองรับบริการจากลูกค้า สำหรับผ่อนคลาย และยังนำเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากโรงงานมาให้ลูกค้าเดินชม และทดลองใช้จริงภายในร้าน
“ผมตั้งใจให้เป็นชุมชน (Community) ของคนที่ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือจุดรวมตัวของชาวฮาร์ฟ โดยร้านชื่อ HARV KIND มีความหมายว่า ชาวฮาร์ฟที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นอกจากนี้ ร้านเรายังสามารถนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาได้ แต่อาจจะต้องมีสายจูง หรือรถเข็น โดยเรามีขนม – ไอศกรีม สำหรับสุนัขและแมวให้บริการด้วย รวมถึงส่วนของ Review Station ที่จำหน่ายสินค้าจากแบรนด์รักษ์โลกอื่น ๆ โดยตั้งใจจะเพิ่มพื้นที่จัดเวิร์คช้อปให้ความรู้ ทั้งด้านเฟอร์นิเจอร์ กาแฟ หรือแม้แต่เรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การคัดแยกขยะ และการสร้างสรรค์เศษวัสดุเหลือทิ้งนำกลับมาใช้ใหม่”

ภาพจาก : Room Magazine
มุมมองพัฒนาการของลูกค้าสาย ‘GREEN’
คุณชนน สะท้อนภาพว่า ผู้บริโภคกลุ่มที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่พร้อมจะจ่ายมากกว่าเพื่อซื้อสินค้าที่มิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังมีไม่มากนัก แต่แนวโน้มจะเพิ่มขึ้น จากคนรุ่นใหม่ที่เริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนัก ผู้บริโภคปัจจุบันจึงให้ความสำคัญในเรื่องราคามากกว่า ขณะที่สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเอกลักษณ์ ดูดี และมีคุณภาพ อาจจะขายแพงกว่าสินค้าทั่วไป เพราะต้นทุนสูงกว่า และแน่นอนว่าขายได้ยากกว่า แต่หากสินค้าทั้งสองแบรนด์มีเหมือนกัน คุณภาพใกล้กัน ราคาเท่ากัน หรือไม่ต่างกันมาก สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมย่อมขายดีกว่าแน่นอน

ภาพจาก : The Cloud
ในส่วนต้นทุนการผลิตของสินค้าที่เป็น Green Product วัสดุเหลือทิ้ง หรือเศษบางประเภทยังไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ หรืออาจจะไม่ได้มีปริมาณมากในปัจจุบัน ทั้งต้องมีกระบวนการ หรือนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาในส่วนนี้ แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะปรับเปลี่ยนให้ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมไปสู่การผลิตและการบริโภคที่ตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่หากสามารถผลิตได้มากขึ้น และง่ายขึ้น ต้นทุนถูกลง จะช่วยในเรื่องของผลกำไรได้ในอนาคต ตอนนี้จึงมองว่าทุกอย่างต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งค่อย ๆ พัฒนาความรู้และทักษะการทำงานของบุคลากรให้มีศักยภาพสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนกำลังการผลิตแล้ว ยังมีส่วนที่ยังรับจ้างผลิตสินค้าของ บริษัทแกรนด์ดิส จำกัด แบรนด์ InHome และเพิ่มกำลังการผลิตแบรนด์ฮาร์ฟ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากแบรนด์ยังใหม่ และยอดขายยังไม่มากจึงเป็นการสิ้นเปลืองเกินไปที่จะใช้กำลังการผลิตทั้งหมดของโรงงานเพื่อผลิตแบรนด์เดียว แต่ทิศทางการเปลี่ยนผ่านนี้อาจจะต้องใช้เวลาไปอีกสักระยะหนึ่ง ให้พฤติกรรมผู้บริโภคปรับเปลี่ยนและตระหนักถึงการซื้อสินค้าหรือของใช้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ภาพจาก : The Cloud
สู่เป้าหมาย Net Zero
คุณชนน เผยวิสัยทัศน์ว่า แบรนด์ฮาร์ฟ อยากผลิตสินค้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Green Product) ต้องทำให้แบรนด์ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ 100% แม้ในตอนนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น แต่จะค่อย ๆ ทำไปอย่างไม่ลดละ รวมทั้งสื่อสารถึงเป้าหมาย และสิ่งที่ทำได้แล้วไปให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ ขณะเดียวกันต้องเข้าใจทิศทางของตลาด และกลุ่มลูกค้าว่ามีความพร้อมหรือไม่

ภาพจาก : The Cloud
รวมถึงเป้าหมายในอีก 2 ปี สินค้าที่จำหน่ายไปแล้วจะมีอายุครบ 5 ปี เฟอร์นิเจอร์บางชิ้นอาจชำรุดหรือเจ้าของอยากเปลี่ยนใหม่ บริษัทจะรับคืนสินค้า หรือซ่อมให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ส่วนแผนในระยะยาวจะทำให้แบรนด์ไปสู่เป้าหมาย Net Zero ให้ได้มากที่สุด
ติดตามข้อมูล ฮาร์ฟ (HARV) เพิ่มเติมได้ที่