32 BUG FARM นวัตกรรมฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง โปรตีนทางเลือกจากแมลงสู่จุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมอาหาร

SME in Focus
02/05/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 2818 คน
32 BUG FARM นวัตกรรมฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง โปรตีนทางเลือกจากแมลงสู่จุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมอาหาร
banner
แมลงจัดเป็นอาหารพื้นบ้านตามนิยามในสหภาพยุโรป (EU) ปัจจุบันสิ่งนี้ถือเป็น ‘อาหารใหม่’ (Novel Food) ด้านองค์การอนามัยโลก ระบุว่า แมลงกินได้เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ขณะที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า กว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลกเคยรับประทานแมลง หรือเคยนำมาประกอบอาหาร

และทั่วโลกมีแมลงกว่า 1,900 สายพันธุ์ที่รับประทานได้ อีกทั้งระบุว่าแมลงจะเป็นความมั่นคงทางอาหารของมนุษยชาติในอนาคต (Future Food) ที่มีความยั่งยืน เพียงพอต่อจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น และปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าปศุสัตว์ 



เหตุนี้ ตลาดแมลงจึงน่าจับตา ข้อมูลบริษัท Research and Markets ระบุว่า ตลาดแมลงกินได้ทั่วโลกปี 2561-2566 มีอัตราการเติบโตระหว่างประมาณ 23.8% และคาดว่าในปี 2566 ตลาดจะมีขนาด 37,900 ล้านบาท โดยตลาดเอเชียมีสัดส่วนถึง 30-40%  รองลงมาคือในยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา และอเมริกาเหนือ

อย่างไรก็ตาม กระแสการกินแมลงในปัจจุบัน ยังไม่นิยมนำมาเป็นเมนูหลัก สาเหตุทั้งจากความเคยชิน ปริมาณที่ยังไม่เพียงพอ ความสะอาดและปลอดภัยจากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ดังนั้น การพัฒนาที่ต้นน้ำหรือฟาร์มที่เป็นแหล่งกำเนิดวัตถุดิบจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอาหาร (Shift Food Industry)



‘จิ้งหรีด’ แมลงกินได้มากคุณประโยชน์



คุณบัญชร นามธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัทสามสิบสอง อินโนเวท จำกัด (32 BUG FARM) ธุรกิจฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง นวัตกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยระบบให้อาหารและน้ำอัตโนมัติที่มีความสะอาด ปลอดภัยต่อผู้บริโภค กล่าวว่า ทั่วโลกให้ความสนใจเรื่องแมลงที่เป็นอาหาร และจิ้งหรีดซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์

โดยจิ้งหรีดสด 100 กรัม มีโปรตีน 17 เปอร์เซ็นต์ และมีวิตามิน แร่ธาตุ ไขมันไม่อิ่มตัว กรดไลโนเลอิก กรดโอเลอิก กรดอะมิโน แมกนีเซียม วิตามินบี 12 โอเมก้า-3 เส้นใยโปรไบโอติก และเส้นใยอาหารที่เรียกว่าไคติน จิ้งหรีดจึงเป็นโปรตีนทางเลือกที่มากคุณประโยชน์และมีมิติด้านความยั่งยืนของอาหารในอนาคต  

ฟาร์มเราผลิตจิ้งหรีดได้ 2 ตันต่อเดือน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะผู้เลี้ยง
จิ้งหรีดลดลง จากปัญหาต้นทุนค่าอาหารแมลงสูงขึ้น จึงทำให้ทิศทางตลาดในตอนนี้มีกระแสตอบรับดีมาก

กระนั้น การพัฒนารูปแบบการเลี้ยงจิ้งหรีดสมัยใหม่เพื่อนำมาเป็นอาหารมนุษย์ ทุกกระบวนการจะต้องใส่ใจด้านความสะอาด มีมาตรฐานความปลอดภัย และปลอดการปนเปื้อน ทั้งยังสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิต จึงได้มีการศึกษาและวิจัยเพื่อนำองค์ความรู้มาต่อยอดเป็นตู้เลี้ยงจิ้งหรีดที่มีการนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการให้อาหารและน้ำแบบอัตโนมัติ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคนิคการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้ Productivity และลดต้นทุนการใช้แรงงานคน



ฟาร์มแนวตั้ง สะอาด ปลอดภัย ให้ผลผลิตสูง

คุณบัญชร เผยแนวคิดธุรกิจว่า หากสามารถทำให้การเลี้ยงจิ้งหรีดสะอาด ถูกสุขลักษณะและปลอดภัย รวมถึงมีการตรวจสอบย้อนกลับได้ ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้ที่นิยมรับประทานแมลง และจิ้งหรีดเป็นแมลงเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าสนใจ เป็นแหล่งอาหารที่ดี มีคุณประโยชน์จากโปรตีนในต้นทุนที่ใกล้เคียงกับเนื้อไก่ จึงนำแนวคิดธุรกิจนี้มาต่อยอดเป็น ‘32 BUG FARM’ หรือฟาร์มจิ้งหรีดที่เลี้ยงในแนวตั้งบนพื้นที่เฉพาะโรงเรือนเพียง 100 ตารางวา 



โดยนำโปรแกรม PLC มาควบคุมการให้อาหารและน้ำแก่จิ้งหรีดอย่างเหมาะสมตามความต้องการของแต่ละช่วงวัย สามารถบันทึกอายุของจิ้งหรีดเพื่อปรับเปลี่ยนการให้อาหารและน้ำอย่างเหมาะสม และมีระบบแจ้งเตือนตั้งแต่วันแรกไปจนถึงช่วงโตเต็มวัยพร้อมจับขาย ระบบอัตโนมัตินี้ทำให้ลดการใช้แรงงานคนและสามารถกระจายงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งมีความสะอาด ปลอดภัย และสะดวกในการบริหารจัดการฟาร์ม 

ทั้งนี้ผลผลิตจิ้งหรีดในฟาร์มสามารถจับได้ในช่วง 35 - 38 วัน ส่วน ‘สะดิ้ง’ หรือเรียกอีกชื่อว่า ‘จิ้งหรีดขาว’ มีขนาดเล็กกว่าทั่วไปแต่มีไข่เต็มท้องจึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ระยะเวลาในการจับไม่เกิน 42 - 45 วัน โดยมีการเลี้ยงสลับกันไประหว่างจิ้งหรีดและสะดิ้ง เพื่อลดโอกาสในการเกิดโรคหรือเชื้อโรคในฟาร์มได้ด้วย

ทั้งออกแบบตู้เลี้ยงให้สามารถระบายอากาศได้ดี ปรับได้ตามความเหมาะสมกับสภาพอากาศในแต่ละช่วงเวลา และมีระบบการป้องกันสัตว์และแมลงที่จะเข้ามาสร้างความเสียหายหรือเป็นพาหะนำเชื้อโรคเข้ามาในฟาร์ม อย่างไรก็ตาม งานในฟาร์มบางส่วนยังต้องใช้แรงงานคน อาทิ อนุบาลไข่ ดูแลตัวอ่อน จับขาย และดูแลทำความสะอาดตู้เลี้ยง 

ดังนั้น จิ้งหรีดที่ได้จากฟาร์มสามารถเปรียบเทียบกับการเลี้ยงแบบทั่วไปได้ 2 ลักษณะ คือ  1.การเลี้ยงแบบแนวตั้งสามารถใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่างจากการเลี้ยงรูปแบบทั่วไปที่จะนิยมเลี้ยงในบ่อปูนหรือแบบเลี้ยงในกล่องเป็นแนวราบ ดังนั้นเทียบพื้นที่ 1 ตารางเมตร ที่ฟาร์มสามารถตั้งซ้อนกันได้ 3 ตู้ ส่วนการเลี้ยงแบบทั่วไปจะตั้งได้เพียงตู้เดียว

และ 2.ผลผลิตต่อตู้สำหรับการเลี้ยงแนวตั้งแบบอัตโนมัติเทียบเท่าหรือสูงกว่าการเลี้ยงในรูปแบบทั่วไป  โดยปริมาณการเลี้ยงต่อตู้ 1 ตรม.ให้ผลผลิต 30 - 40 กิโลกรัม ต่อการเลี้ยง 1 รอบใช้เวลาไม่เกิน 42 วัน โดยตลอดขั้นตอนการเลี้ยงจะมีคู่มือการทำงานบอกในทุกขั้นตอน ทำให้ง่ายหากจะส่งเสริมการเลี้ยงหรือผู้สนใจนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจ 



เลี้ยงจิ้งหรีดไม่เกิน 2 ปี คืนทุน

คุณบัญชร กล่าวว่า ฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง มีต้นทุนอาหารแทบไม่แตกต่างกับรูปแบบการเลี้ยงทั่วไป เนื่องจากฟาร์มใช้อาหารจิ้งหรีดสำเร็จรูป 100% ไม่ให้จิ้งหรีดกินอาหารสดหรืออย่างอื่น เพื่อเป็นการป้องกันโรค หรือการปนเปื้อนสารเคมี จึงใช้เฉพาะอาหารสำเร็จรูปที่มาจากบริษัทที่มีมาตรฐานน่าเชื่อถือ ดังนั้นจึงรับประกันได้ว่าฟาร์มจิ้งหรีดแห่งนี้มีกระบวนการเลี้ยงที่สะอาด ปลอดภัย ปราศจากสารปนเคมีปนเปื้อน  

ส่วนต้นทุนด้านตู้และอุปกรณ์การเลี้ยง เนื่องจากเป็นตู้ที่ออกแบบขึ้นเองจึงมีต้นทุนที่สูงพอสมควร สมมุติหากต้องการผลผลิตจิ้งหรีด 1 ตันต่อเดือนอาจต้องลงทุนด้านตู้และอุปกรณ์ประมาณ 8 แสน  - 1 ล้านบาท ขณะที่ราคาขายส่งเฉลี่ยกิโลกรัมละ 130 บาท (ราคาเฉลี่ย) ดังนั้นจึงมีระยะเวลาคืนทุนประมาณไม่เกิน 2 ปีเท่านั้น



เกษตรแม่นยำ จากไข่ไปจนถึงจับขาย 

คุณบัญชร กล่าวว่า ไข่จิ้งหรีดจะฟักตัวภายใน 7 วัน อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ที่ 35 - 37 องศา ถ้าภาชนะรองอันไหนไข่มีหนาแน่นจะนำเข้าตู้เลี้ยงเลย แต่ถ้าภาชนะไหนมีไข่น้อยจะนำไปอนุบาลก่อน และหากต้องการเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อตู้ให้มากขึ้นสามารถนำตัวอ่อนของจิ้งหรีดมาอนุบาลประมาณ 5 วัน และนำมาชั่งน้ำหนักเพื่อหาค่าเฉลี่ยก่อนนำไปใส่ในตู้เลี้ยงเพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณในการเลี้ยงต่อตู้ได้อย่างเหมาะสมไม่แออัดเกินไป

และต้องสร้างสภาพแวดล้อมภายในตู้เลี้ยงให้มีที่หลบซ่อน เพื่อป้องกันการกัดกินกันเองในขณะลอกคราบซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของจิ้งหรีด

โดยมีการคำนวณหาปริมาณผลผลิตต่อตู้ สามารถนำอัตรารอด 40% ไปคูณกับน้ำหนักตัวจิ้งหรีดโตเต็มวัย จะได้ปริมาณที่เหมาะสมในการเลี้ยงจิ้งหรีดต่อตู้ ซึ่งเป็นสูตรที่ค่อนข้างแม่นยำ

คุณบัญชร กล่าวอีกว่า จากตอนแรกทดลองเลี้ยงแค่ 5 ตู้ ภายหลังจากที่เห็นผลสำเร็จจึงขยายปริมาณการเลี้ยงเพิ่มขึ้นกว่า 160 ตู้ ซึ่งประสบความสำเร็จตามที่คาดไว้ และได้มีการถ่ายคลิปวิดีโอระบบการเลี้ยงจิ้งหรีดแบบตู้เลี้ยงอัตโนมัติแนวตั้ง ที่ลิงค์ : https://www.youtube.com/watch?v=TpDA_cQwNCw  เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่สนใจในการเลี้ยงจิ้งหรีดได้ศึกษา นำไปปรับใช้ ต่อยอด หรือทดลองเลี้ยงแบบนี้บ้าง

 

‘โปรตีนทางเลือก’ จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป  



คุณกมลวรรณ นามธรรม กรรมการบริหาร บริษัทสามสิบสอง อินโนเวท จำกัด (32 BUG FARM) กล่าวว่า นอกจากเรื่องคุณภาพจิ้งหรีดของฟาร์มที่ต้องสะอาด ปลอดการปนเปื้อนแล้ว ฟาร์มยังเน้นด้านมาตรฐาน อาทิ GMP, GAP รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารต้องมีการขออนุญาตจากสำนักงานอาหารและยา (อย.)

ดังนั้นจึงมีมาตรฐานในการจัดการที่ดีทั้งสภาพแวดล้อมและการป้องกันโรค ทั้งมีการบันทึกข้อมูลการทำงานในฟาร์มตลอดทั้งวัน ตั้งแต่การฟักไข่ไปจนถึงการจับขาย โดยสอนให้พนักงานรู้จักใช้แบบฟอร์มเพื่อเก็บข้อมูล และถ่ายภาพส่งข้อมูลการทำงานแต่ละวันผ่านมือถือเพื่อบันทึกเข้าระบบ

รวมถึงการพัฒนาไปสู่มาตรฐานการรับรองด้านอาหารที่สูงขึ้น เช่น  HACCP เพื่อโอกาสในการก้าวสู่ตลาดที่มีมูลค่าสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงสร้างจุดขายที่สำคัญของฟาร์ม แต่ยังมองถึงโอกาสในการเติบโตของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจิ้งหรีดที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป 

อย่างไรก็ตาม ที่ฟาร์มเน้นการขายส่งเป็นตัวตามน้ำหนักที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป ให้ตลาดค้าส่งที่มารับซื้อที่ฟาร์มโดยตรง และพ่อค้าคนกลางที่เป็นตัวแทนในการรวบรวมวัตถุดิบให้โรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังได้ทดลองแปรรูปเป็น 'จิ้งหรีดปรุงรส' ขายผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย 



เพื่อเปิดตลาดในกลุ่มลูกค้าที่นำจิ้งหรีดไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ผงโปรตีนที่สามารถนำไปเป็นส่วนผสมหรือส่วนประกอบของอาหารหลายชนิด อย่างเมนูใหม่ ๆ ที่ได้ทดลองและเชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่เคยรับประทาน คือ นำผงโปรตีนจิ้งหรีดไปทำน้ำยาขนมจีน หรืออาหารประเภทผัด ก็ได้รสชาติที่ทั้งอร่อยและแปลกใหม่ ผงโปรตีนมีกลิ่นคล้าย ๆ ถั่ว เมื่อนำไปประกอบอาหารจะไม่เสียรสชาติดั้งเดิม ที่สำคัญ มองว่าความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้ของตลาดต่างประเทศ ยังมีทิศทางสูงขึ้นเรื่อย ๆ 



ใช้ ‘คุณภาพและเทคโนโลยี’ เป็นเข็มทิศนำทางธุรกิจสู่ความยั่งยืน

คุณบัญชร กล่าวว่า ก้าวต่อไปของ‘32 BUG FARM’ ยังมุ่งเน้นการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน สะอาด และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ขณะที่การแปรรูปยังคงพัฒนาการแปรรูปขั้นต้น อาจยังไม่ถึงขั้นการสกัดโปรตีน หรือจำแนกคุณประโยชน์จากสารอาหาร ที่ได้จากจิ้งหรีด แต่อยากพัฒนาระบบการเลี้ยงให้มีมาตรฐานและการจัดการที่ดียิ่งขึ้นมากกว่า

เพราะตอนนี้เราอาจจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังสามารถปรับปรุงหรือพัฒนารูปแบบการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ และต้องการลดการใช้แรงงานคนโดยนำระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทน เช่น การจับแมลงโดยมีแนวคิดว่าน่าจะสามารถนำแสงไฟมาล่อแมลงในตู้เลี้ยงที่ต้องการจับขาย เพื่อลดขั้นตอนการทำงานในส่วนนี้ได้ และยังมีประโยชน์ต่อการคัดแยกขนาดและสร้างมูลค่าเพิ่มจากจิ้งหรีดตัวเต็มวัยที่อุดมไปด้วยโปรตีน

กระนั้น ทุกอย่างไม่ได้เกิดจากเครื่องมือหรือการจัดการเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้การสังเกต และแก้ปัญหาโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อจัดการฟาร์มได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นเทคนิคที่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการตามสภาพแวดล้อมภายในฟาร์มที่แท้จริง 

คุณบัญชร กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานทั้งในการเลี้ยงและการแปรรูปจิ้งหรีดจะเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญในการยกระดับเป็นอุตสาหกรรมและซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมอาหารซึ่งเทรนด์การรับประทานแมลงหรือโปรตีนจากแมลงเป็นเทรนด์อาหารที่มีความยั่งยืน เนื่องจากเป็นวงจรการเลี้ยงระยะสั้น ให้ผลผลิตต่อหน่วยสูง และใช้ทรัพยากรต่ำกว่าเนื้อสัตว์ทุกประเภท ที่สำคัญมีการปล่อย CO2 น้อยกว่าการทำปศุสัตว์ส่วนใหญ่มาก จึงเป็นโอกาสที่โปรตีนทางเลือกจากจิ้งหรีดจะเข้าไปทดแทนโปรตีนกระแสหลักได้ในที่สุด 

ติดตาม บริษัทสามสิบสอง อินโนเวท จำกัด (32 BUG FARM) เพิ่มเติมได้ที่ : 

Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิก หรือสายด่วน 1333


Related Article

ธุรกิจยุคใหม่ต้อง ‘ไร้สัมผัส’ SME in Focus

ธุรกิจยุคใหม่ต้อง ‘ไร้สัมผัส’

ความร้ายแรงของโควิด-19 ที่มนุษย์โลกต้องเผชิญนั้นยิ่งกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโรคชนิดใดๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาบนโลกนี้ เพราะทำลายทั้งชีวิตและระบบเศรษฐกิจขอ...
155426 | 09/06/2020
5 เทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล กระแสแรงแห่งปี 2021 SME in Focus

5 เทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล กระแสแรงแห่งปี 2021

ปี 2020 เป็นหนึ่งในปีที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีอิทธิพลอย่างมากกับทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคสังคมทั่วโลก ทั้งกับการดำเนินชีวิตของผู้คนและแนวทางการดำเนินธุรกิจข...
117068 | 21/01/2021
‘โกลเด้น โรบอท’ ยืนหนึ่งด้าน High Quality ยกระดับอุตสาหกรรม Robotic ไทยสู่ระดับโลก SME in Focus

‘โกลเด้น โรบอท’ ยืนหนึ่งด้าน High Quality ยกระดับอุตสาหกรรม Robotic ไทยสู่ระดับโลก

ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยได้มีการนำ ‘นวัตกรรมหุ่นยนต์’ มาใช้ในการทำงานมากขึ้น แต่การจะทำให้ระบบหุ่นยนต์สัญชาติไทยได้รับการยอมรับ และเชื่อมั่นในเทคโนโลย...
102797 | 20/05/2022
banner