‘เจมม่า นิต’ นวัตกรรมสิ่งทอตอบโจทย์ลูกค้า เจาะไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่
ตระกูลศรีชวาลา คนไทยเชื้อสายอินเดียที่ตั้งรกรากในไทย เริ่มจากการขายผ้าสู่ธุรกิจสิ่งทอ ปัจจุบันลูกหลานในตระกูล ต่างแยกย้าย แตกไลน์ สร้างอาณาจักรเป็นของตัวเองมากมาย สำหรับ คุณอมร ศรีชวาลา กรรมการผู้จัดการ บริษัทเจมม่า นิต (ประเทศไทย) จำกัด เขาเริ่มจากการเข้ามาช่วยงานพี่ชาย (คุณเทพฤทธิ์ ศรีชวาลา) ทำธุรกิจครอบครัว (Family Business) ด้านโรงงานสิ่งทอสำหรับอุตสาหกรรม เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา นับเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดต่อยอด เพื่อตอบสนองความต้องการที่เหนือความคาดหมายให้แก่ลูกค้า และการค้นหา Pain Point ลูกค้าให้เจอ

ปัจจุบัน บริษัทเจมม่า นิต (ประเทศไทย) จำกัด เป็นธุรกิจครอบครัว ที่ดำเนินธุรกิจสิ่งทอจากเส้นใยสังเคราะห์ สำหรับแบรนด์ เพื่อผลิตเป็นเสื้อผ้าที่มีฟังก์ชันตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เช่น ชุดกีฬา ชุดออกกำลังกาย ชุดสำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง และ ชุดชั้นใน เช่น แบรนด์ Sabina และ Wacoal เป็นต้น
คุณอมร บอกว่า การเข้ามาช่วยงานธุรกิจครอบครัว เป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญ ทำให้เขาเตรียมความพร้อม ซึ่งย้อนไปประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา จากเดิมที่ทำผ้าทอลายลูกไม้ ผ้ายางยืด และวัตถุดิบที่ใช้เกี่ยวกับผ้าลูกไม้ ได้เห็นโอกาสในธุรกิจสิ่งทอ ว่าสามารถแตกไลน์ได้ โดยนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนา คือ เส้นใย สแปนเด็กซ์ (Spandex) ที่ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้น คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปมากขึ้น

สำหรับเส้นใยสแปนเด็กซ์ เป็นนวัตกรรมเส้นใยที่พัฒนาโดย บริษัท DuPont เป็นเจ้าแรกในตลาด ช่วงแรกราคาค่อนข้างสูงมาก เนื่องจากโรงงานผลิตต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง จึงจำกัดการใช้ เฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป
ขณะที่ ในประเทศไทย โรงงานที่นำเส้นใยสแปนเด็กซ์มาผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่มยุคนั้น จะมีแค่เครือสหพัฒน์ฯ ซึ่งใช้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น และอีกกลุ่มคือธุรกิจร่วมลงทุนกับบริษัทสัญชาติเยอรมัน เรียกว่าเป็นผู้นำตลาดในขณะนั้นก็ว่าได้

ตอนนั้น คุณอมร มองว่า การจะทำให้โรงงานฟอกย้อมที่เป็นหนึ่งในธุรกิจครอบครัว มีศักยภาพมากขึ้น ต้องนำเครื่องจักรและเทคโนโลยี มาใช้เพื่อรองรับการผลิตผ้านวัตกรรมใหม่ รวมถึงต้องใช้ทีมงานฝ่ายเทคนิค และทีม R&D ที่เคยผลิตผ้าเส้นใยสแปนเด็กซ์มาช่วยงาน ช่วงแรกจึงลงทุนผลิตเป็นไลน์เล็ก ๆ และก่อตั้ง บริษัทเจมม่า นิต (ประเทศไทย) จำกัด นำเข้าเครื่องจักรจากประเทศเยอรมัน เพื่อผลิตผ้าเส้นใยสแปนเด็กซ์
คุณอมร เผยอีกว่า ถ้าพิจารณาช่องว่างของราคา (Gap) ของสินค้ากลุ่มผ้าเส้นใยสแปนเด็กซ์ จะมีผู้ผลิตจีนที่เน้นผลิตสินค้าราคาถูก คุณภาพต่ำ มาตีตลาด ขณะที่ช่องว่างราคา เกิดจากดีมานด์สินค้าที่มีคุณภาพดีกว่าสินค้าจากจีน แต่ราคาต่ำกว่าสินค้าเจ้าตลาดจากยุโรป บริษัทจึงเลือกผลิตสินค้าเพื่อเจาะตลาดนี้ โดยเรามีสินค้าราคาสูงกว่าผู้ผลิตจีนประมาณ 10 % แต่จุดแข็งคือคุณภาพ จึงเจาะตลาดได้ในที่สุด
“ในช่วงแรกธุรกิจค่อนข้างประสบความสำเร็จ ผลิตสินค้าไปแล้วขายได้ แม้สินค้าเราแพงกว่าจีนเล็กน้อย แต่คุณภาพสินค้าใกล้เคียงกับมาตรฐานยุโรป ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปพอดี”

ตอบโจทย์ความต้องการที่เหนือความคาดหมาย
คุณอมร กล่าวอีกว่า พอเห็นช่องว่างของตลาด จึงต่อยอดโดยทำงานร่วมกับแบรนด์ชุดชั้นใน อย่าง Sabina และ Wacoal ซึ่งลูกค้าจะบอกโจทย์ให้เราไปพัฒนาต่อ เพื่อผลิตเป็นสินค้า ดังนั้น นอกจากเรื่องราคาแล้ว ยังตอบโจทย์เรื่องคุณภาพของลูกค้าด้วย
สำหรับ โครงสร้างพื้นฐานของโรงงานผลิต เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งด้านราคา และคุณภาพ ดังนั้น แม้ผ้าบางประเภทเราไม่มีความชำนาญมาก่อน แต่พอมองออกว่าจะสอดแทรก หรือใส่ลูกเล่นอะไรเพิ่มเข้าไปได้บ้าง ตลอดจนได้ศึกษาตลาดในต่างประเทศ และพยายามคิดต่อยอดไปให้ไกลกว่าความต้องการของลูกค้าในขณะนั้น

ตัวอย่างเช่น ลูกค้า ต้องการผ้าที่เบาและเย็น วิธีคิดของเราคือ นอกจากเบาและเย็น ยังเพิ่มความพิเศษอะไรได้อีก เช่น เบาแล้วซึมซับน้ำได้ดี หรือระบายอากาศ ลดเชื้อแบคทีเรียได้ดี เป็นต้น ซึ่งโจทย์ในการคิดต่อยอดเหล่านี้ ทำให้เกิดการนำเส้นใยชนิดต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ และเปิดกว้างในการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ผู้ผลิตเส้นใยใหม่ ๆ ทั้งใน และต่างประเทศ
ส่วนการจัดการภายในองค์กร มีการทำงานร่วมกับทีม R&D ที่มีความชำนาญ และพยายามนำ Pain Point ของลูกค้า มาระดมสมองเพื่อตอบโจทย์ความต้องการให้มากกว่าสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ อย่างผลงานที่ผ่านมา คือการคิดค้นนวัตกรรมผ้าสองชั้น ที่มีคุณสมบัติทดแทนการใช้ฟองน้ำของส่วนประกอบชุดชั้นในสตรี ถือเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนวงการชุดชั้นในสตรีไปเลย
สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการต้องไม่มองเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการเท่านั้น แต่ควรมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่าสิ่งที่มีอยู่ในตลาด เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น

หา Pain Point ของลูกค้าให้เจอ
คุณอมร มองว่า Pain Point ของลูกค้า เป็นสิ่งสำคัญที่ธุรกิจต้องหาให้เจอ เพื่อคิดค้น และพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการที่เหนือความคาดหมายให้ลูกค้า ภาพรวมธุรกิจเรา อยู่ในอุตสาหกรรมฟอกย้อม สิ่งทอ ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มปัจจัยพื้นฐาน ที่ผู้บริโภคใช้สินค้าตามการผลิตในตลาดเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีทีมงานช่วยจัดการจุดอ่อนของลูกค้าให้ได้ รวมทั้งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้า และซัพพลายเชน ผู้ผลิตเส้นใยสังเคราะห์ต่างชาติ ที่มีความชำนาญในอุตสาหกรรม เนื่องจากการทำงานร่วมกับผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปต้องริเริ่ม พัฒนาสินค้าใหม่ ๆ สู่ตลาดตลอดเวลา หากทั้งคลัสเตอร์หาจุดร่วมเหล่านี้ได้ การพัฒนาตลาดจะไปต่อได้อย่างมีศักยภาพ
“การคิดค้น และพัฒนานวัตกรรมไม่ใช่ทั้งหมดที่จะประสบความสำเร็จ ใน 10 โปรเจกต์ อย่างเก่งอาจจะมีแค่ 2-3 โปรเจกต์ที่ไปต่อได้ หรือลูกค้านำไปพัฒนาเป็นสินค้าได้จริง เพราะปัจจัยสำคัญ คือ คุณต้องตอบโจทย์ทุกส่วน ทั้งในอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และผู้บริโภค”

วิเคราะห์วัฏจักรของสินค้าเครื่องนุ่งห่ม
เป็นที่ทราบดีว่า กลุ่มสินค้าแฟชั่น จะมี Product Life Cycle ที่ค่อนข้างสั้น ดังนั้น การพัฒนาจึงมีเวลาเป็นปัจจัยสำคัญ ต้องปรับตัวตลอด โดยในพอร์ตของเรามีสินค้าที่สร้างรายได้ในกลุ่มนี้ประมาณ 30 %
ส่วนอีกกลุ่ม คือ Functional กับ Basic หรือสินค้าเสื้อผ้าที่ใช้ประจำ ตลาดและความต้องการไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพียงแต่เน้นประโยชน์การใช้สอย หรือฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์เฉพาะบุคคลมากขึ้น อาจจะไม่เน้นแฟชั่นมาก แต่ต้องเบา เย็นสบาย แห้งเร็ว ป้องกันแบคทีเรีย หรือมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการทำกิจกรรมที่หลากหลายของผู้คนในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม สินค้า Basic บางชนิด มี Life Cycle ที่ยาวนานกว่า 10 -20 ปี อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบบ้าง แต่เนื้อผ้าและเส้นใยที่เป็นนวัตกรรมยังคงเดิม และลูกค้ายังสั่งซื้อซ้ำต่อเนื่อง แต่หากเป็นสินค้ากลุ่มกีฬา จะอยู่ได้ประมาณ 3 ปี เนื่องจากนวัตกรรม และเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว รวมทั้งผู้ผลิตนำเสนอฟังก์ชันใหม่ ๆ ที่หลากหลายและตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น

คุณอมร ศรีชวาลา กรรมการผู้จัดการ บริษัทเจมม่า นิต (ประเทศไทย) จำกัด
มองทิศทางอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
ปัจจุบัน ความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ตาม Knowledge หากผู้ผลิตสามารถนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพดีกว่าเดิมในราคาที่เข้าถึงได้ สินค้านั้นย่อมเป็นที่ต้องการของตลาดโดยธรรมชาติ ในฐานะผู้ผลิตที่เป็นทั้งกึ่ง ๆ ต้นน้ำ และกลางน้ำของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ต้องปรับตัวตามเทคโนโลยีให้ได้
ขณะที่ด้านเทคนิค ต้องมีการอัปเดตข้อมูลตลอด ซึ่งการบริหารต้นทุนมีส่วนสำคัญ เพราะราคา เป็นปัจจัยในการซื้อของผู้บริโภค ธุรกิจเราจึงไม่ได้โฟกัสตลาดที่ขายจำนวนมากแต่ด้อยคุณภาพ เราเป็น SME ที่มีนวัตกรรม เน้นหาช่องว่าง เพื่อพัฒนาสินค้าร่วมกับคู่ค้าที่เป็นแบรนด์เสื้อผ้าสำเร็จรูปอย่างใกล้ชิด

ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม
มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้สอดรับกับมาตรการ และความต้องการของตลาดที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่เดิมอาจเป็นการขอความร่วมมือ แต่ปัจจุบันมาตรการและระเบียบต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมในตลาดต่างประเทศเข้มงวดมากขึ้น
และต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด อย่างเช่น แบรนด์เครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบและประเมินบริษัท โดยในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม จะให้ความสำคัญด้านการจัดการน้ำ และของเสีย การบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้มีแนวโน้มที่เข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ ท้ายที่สุด ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันจัดระเบียบ และปรับปรุงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้ เพื่อให้ธุรกิจนี้ไปต่อได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
ติดตามเพิ่มเติมที่ :
https://www.gemmaknits.com
https://instagram.com/gemmaknits?igshid=MWZjMTM2ODFkZg